Twitter ส่งเสริม #วันการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยขึ้น แนะนำ 5 ทิปส์เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีและปลอดภัยบนทวิตเตอร์

วันการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยขึ้น หรือ Safer Internet Day ก่อตั้งในยุโรปเมื่อปี 2004 และได้ฉลองการเป็นวันระดับโลกเป็นปีที่ 17 ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับ ทวิตเตอร์ที่ได้กลายเป็นบริการระดับโลก และวันนี้เราได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านความปลอดภัยหลายแห่งในกว่า 140 ประเทศทั่วโลก เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของ #วันการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยขึ้น และช่วยสร้างความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ตให้กับทุกคน
คอนเซ็ปต์วันการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยขึ้นปี 2021 นี้ ของ @safeinternetday คือ ‘การร่วมมือกันเพื่อการใช้อินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น (Together for a better internet)’ ซึ่งเช่นเดียวกับหัวใจการให้บริการของทวิตเตอร์ที่เชื่อว่า การใช้อินเทอร์เน็ตจะต้องดีขึ้น โดยต้องผลักดันเพื่อสิ่งที่ดี และนั่นคืองานของทวิตเตอร์ในการสร้างความปลอดภัยและคุณภาพของการสนทนา
ความปลอดภัยของทวิตเตอร์และคุณภาพของบทสนทนาสาธารณะนับเป็นสิ่งที่ทวิตเตอร์ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ในปีที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ได้รุกหน้าแก้ปัญหาควบคุมเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมทั่วโลกอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น แม้ยังมีหลายสิ่งที่ยังคงต้องดำเนินอย่างต่อเนื่องแต่เราได้มีความคืบหน้าไปอีกระดับหนึ่ง โดยไฮไลท์ต่าง ๆ ของปี 2020 มีดังนี้
เรื่องสำคัญ (ระดับโลก)
- ทวิตเตอร์ใช้เทคโนโลยีในการจัดการกับข้อความละเมิดบนแพลตฟอร์ม ซึ่งสามารถจัดการข้อความมากกว่า 1 ใน 2 ข้อความ เมื่อเทียบกับปี 2018 ที่จัดการได้ 1 ใน 5 ข้อความเท่านั้น
- ทวิตเตอร์ได้ดำเนินการกับบัญชีที่มีการละเมิดเพิ่มขึ้นกว่า 105% (โดยการล็อคหรือระงับบัญชีเนื่องจากทำผิดกฎของทวิตเตอร์)
ฟีเจอร์โควิด-19 และ #ThereIsHelp ช่วยสร้างความปลอดภัยและให้ข่าวสารที่น่าเชื่อถือบนทวิตเตอร์
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกทำให้ผู้คนหันมาใช้ทวิตเตอร์ในการพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและค้นหาข้อมูลล่าสุดด้านสาธารณสุขที่น่าเชื่อถือ
- เดือนมีนาคม 2020 ทวิตเตอร์ได้ออกนโยบายการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อสร้างคุณภาพของบทสนทนาสาธารณะ หลังจากนั้นทีมงานของทวิตเตอร์ได้ดำเนินการบังคับใช้นโยบายนี้กับผู้ใช้งานจำนวน 4,658 บัญชีที่ละเมิดนโยบาย นอกจากนี้ ระบบอัตโนมัติของทวิตเตอร์ยังพบว่ามีผู้ใช้งานราว 4.5 ล้านบัญชี ที่มีพฤติกรรมการบิดเบือนข้อมูลและเป็นข้อความสแปม
- อีกหนึ่งผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทวิตเตอร์อยากจะสร้างการตระหนักรู้ในสังคมก็คือความรุนแรงที่เกิดจากเพศสภาพและความรุนแรงในครอบครัว (shadow pandemic) ที่พุ่งสูงขึ้นมาก ทวิตเตอร์จึงให้การสนับสนุนพันธมิตรที่ไม่แสวงหาผลกำไรทั่วโลกให้สามารถลงโฆษณาบนทวิตเตอร์ได้ฟรี และยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานด้านสุขภาพและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร 24 องค์กรเพื่อขยายบริการการแจ้งเตือน #ThereIsHelp ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
- ในช่วงของวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ทวิตเตอร์ได้ทำงานร่วมกับสมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายนานาชาติ (International Association for Suicide Prevention) ด้วยการขยายความร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรทั่วโลกกว่า 20 องค์กร และยังร่วมมือกับหน่วยงานด้านสุขภาพจิตในพื้นที่และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอีก 30 หน่วยงานเพื่อกระจายการป้องกันการฆ่าตัวตาย #SuicidePrevention ออกไปในวงกว้างและเพื่อขยายบริการการแจ้งเตือน #ThereIsHelp ที่ช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายหรือการทำร้ายตัวเอง
- เมื่อมีการค้นหาคำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดจากเพศสภาพหรือ การฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายตัวเองบนทวิตเตอร์ ผู้ใช้งานจะได้รับข้อความแจ้งเตือนที่เป็นข้อมูลในการติดต่อและสายด่วนของหน่วยงานในพื้นที่และแหล่งข้อมูลอื่นๆ เพื่อให้พวกเขากล้าขอความช่วยเหลือ
- เดือนธันวาคม 2020 ทวิตเตอร์ได้เพิ่มเติม นโยบายการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งหมายรวมถึงทวีตที่เผยแพร่ข้อความซึ่งมีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19

ขยายนโยบายให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
- ตลอดปี 2020 ทวิตเตอร์ได้มีการอัปเดตกฎระเบียบเกี่ยวกับพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความเกลียดชัง อาทิ ห้ามใช้ภาษาที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุ ความทุพพลภาพ อาการของโรค เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สัญชาติเดิม รวมถึงการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการบำบัดเพศวิถี (conversion therapy) กับบุคคลหรือในชุมชน LGBTQ+
- เราได้ขยายนโยบายให้มีความครอบคลุมเพื่อปกป้องบทสนทนาของพลเมืองบนทวิตเตอร์ เพราะเป้าหมายของทวิตเตอร์คือการปกป้องเนื้อหาที่อาจทำให้การลงคะแนนเสียงถูกระงับและเพื่อหยุดการแพร่กระจายข้อมูลเท็จที่ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของการเลือกตั้งหรือกระบวนการของพลเมืองอื่นๆ
เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ถึงวัน #วันการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยขึ้น ในประเทศไทย ทวิตเตอร์ ไทยแลนด์ @TwitterThailand ได้มีการจัดเสวนาแบบ virtual ด้วยความร่วมมือกับ โครงการ HUG (The Hug Project) , มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT Foundation), และมูลนิธิสายเด็ก (Childline Thailand) เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องของการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ต่างๆ โดยการเสวนาครั้งนี้จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ เวลา 18:00-19:00 น. โดย โครงการ HUG จะเป็นผู้ดำเนินรายการ ผู้ที่สนใจทั่วไปสามารถถามคำถามโดยติดแฮชเท็ก #วันการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยขึ้น โดยผู้เข้าร่วมเสวนาจะมีการคัดเลือกมาตอบในช่วงท้ายของการเสวนา