Lenovo IdeaPad Z5075 (80EC000STA) ทำงานก็เด่น เล่นเกมก็ได้
นานทีปีหนครับถึงจะมีโน้ตบุ๊กที่ใช้ซีพียูของเอเอ็มดีเข้ามาให้เราทดสอบกันสักครั้ง ก็ต้องยอมรับนะครับว่าที่ผ่านมาโน้ตบุ๊กที่ใช้ซีพียูของเอเอ็มดีนั้นมักจะไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะประสิทธิภาพและการใช้พลังงานนั้นถือว่าเป็นรองคู่แข่งอย่างชัดเจน
แต่หลังจากเอเอ็มดีได้ปรับทัพด้วยการใช้หน่วยประมวลผลที่เรียกว่า APU ซึ่งเป็นการผสานการประมวลผลระหว่างส่วนของซีพียูและกราฟิกเข้าไว้ด้วยกันทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมของโน้ตบุ๊กที่ใช้หน่วยประมวลผลของเอเอ็มดีได้ตกเป็นรองอีกต่อไป ทั้งในแง่การประหยัดพลังงานและประสิทธิภาพในการใช้งาน
APU รุ่นใหม่ของเอเอ็มดีนั้นถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการร่วมกับแอพพลิเคชันรุ่นใหม่ ๆ อย่างมาก เนื่องจากแอพพลิเคชันจำนวนมากในปัจจุบันต้องการใช้พลังการประมวลผลร่วมกันระหว่างซีพียูและกราฟิกชิป แม้แต่โปรแกรมมาตรฐานอย่างชุดไมโครซอฟท์ออฟฟิศรุ่นปัจจุบันก็มีการนำส่วนของกราฟิกมาช่วยให้การแสดงผลของ MS Word หรือ MS Excel ทำได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าใครเคยทำงานกับไฟล์ Excel ที่มีจำนวนแถวและคอลัมน์มาก ๆ ก็จะเห็นผลได้อย่างชัดเจนว่าการนำกราฟิกเข้ามาช่วยนั้นทำให้การทำงานทุกอย่างราบรื่นดีมาก หรือแม้กระทั่งงานง่าย ๆ อย่างการใช้เว็บบราวเซอร์เข้าดูเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีคอนเทนต์เป็นไฟล์วิดีโอหรือมัลติมีเดียต่าง ๆ ก็ต้องการพลังในการประมวลผลในลักษณะนี้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นถ้าใครเป็นคนที่ชอบเล่นเกมโน้ตบุ๊กที่ใช้ APU ของเอเอ็มดีก็จะพบว่าสามารถเล่นเกมได้ดีกว่าซีพียูของคู่แข่งถ้าใช้กราฟิกที่รวมอยู่ในตัวหน่วยประมวลผลเหมือน ๆ กัน
รูปลักษณ์ภายนอก
Lenovo IdeaPad Z5075 มีหน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว แสดงผลด้วยความละเอียด 1366×768 และด้วยจอภาพที่มีขนาดใหญ่ทำให้ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย เมื่อมีพื้นที่มากขึ้นทาง Lenovo จึงจัดการให้คีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊กรุ่นนี้สามารถใช้งานได้เทียบเท่ากับคีย์บอร์ดของเครื่องเดสก์ท้อปด้วยการเพิ่มเติมคีย์บอร์ดชุดปุ่มตัวเลขมาให้ใช้งานด้วย ทำให้เราสามารถใช้งานโน้ตบุ๊กรุ่นนี้ได้สะดวกสบายเหมือนกับการใช้เดสก์ท้อปเลยก็ว่าได้ แค่หาเมาส์ดี ๆ มาเพิ่มอีกตัวก็ใช้งานได้คล่องมือขึ้นแล้วครับ ส่วนในบางสถานะการณ์ที่ไม่สามารถใช้เมาส์ได้ ตัวทัชแพดที่ให้มาก็มีขนาดใหญ่พอตัวครับ ใช้งานได้ถนัดพอสมควรและก็ตอบสนองได้รวดเร็ว
มาดูพอร๋ตและช่องสำหรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกของโน้ตบุ๊กรุ่นนี้กันบ้างครับ ทางด้านขวาก็จะมีช่องสำหรับต่อหูฟัง ถัดไปก็เป็นช่อง Card Reader ตามด้วยพอร์ต USB 2.0 และ DVD/RW ส่วนทางด้านซ้ายของตัวเครื่องก็จะเริ่มจากช่องสำหรับต่อไฟจากอะแดปเตอร์ ช่องระบายความร้อน คอนเน็คเตอร์แบบ D-Sub สำหรับต่อจอภาพภายนอกหรือโปรเจคเตอร์ ตามมาด้วยพอร์ตแลน คอนเน็คเตอร์ HDMI สำหรับต่อจอภาพภายนอกเช่นกัน และมี USB 2.0, USB 3.0 มาให้อีกอย่างละหนึ่งช่อง
แม้ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊กที่มีขนาดใหญ่แต่ถ้าลองนึกถึงความเป็นโน้ตบุ๊กแบบ All-in-One คือมีออปติคอลไดร์ฟติดมาด้วย ก็ถือว่าไม่ได้เป็นโน้ตบุ๊กที่ใหญ่โตอะไรนัก และด้วยน้ำหนักราว ๆ 2.5 กิโลกรัม ก็ทำให้เราพอที่จะพกพาโน้ตบุ๊กรุ่นนี้ไปใช้งานนอกสถานที่ได้บางตามสมควร ก็อย่างว่าครับจอใหญ่ถึง 15.6 นิ้ว จะให้ไปตัวเบาเหมือนโน้ตบุ๊กระดับ 13-14 นิ้วก็คงจะลำบาก
ดูจากภาพรวมของลักษณะภายนอกของโน้ตบุ๊กรุ่นนี้ ถ้าเป็นการใช้งานด้านพื้นฐานทั่วไปในชีวิตประจำวัน เราก็คิดว่าทาง Lenovo ตั้งใจที่จะทำให้โน้ตบุ๊กรุ่นนี้สามารถใช้งานทดแทนคอมพิวเตอร์ในระดับเดกส์ท็อปเลยก็ว่าได้ครับ ทั้งคีย์บอร์ดขนาดใหญ่ หน้าจอขนาดใหญ่ มีออปติคอลไดร์ฟในตัว เสียงของลำโพงที่ให้ความชัดเจนสมตัว พอร์ตสำหรับต่อจอภาพภายนอก และต่อพ่วงอุปกรณ์อื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย USB 2.0 และ 3.0
ขุมพลังภายใน
โน้ตบุ๊กรุ่นนี้ใช้หน่วยประมวลผล APU A10-7300 หรือจริง ๆ ต้องเรียกว่าหน่วยเร่งการประมวลผล ที่ภายในประกอบไปด้วยซีพียูที่ใช้สถาปัตยกรรม Kaveri แบบ Quad-Core ความเร็ว 1.9/3.2GHz พร้อมด้วยกราฟิก Radeon R6 ที่มีสตรีมโปรเซสเซอร์อยู่ 384 คอร์ ติดตั้งหน่วยความจำแบบ DDR3L-1600MHz ขนาด 4GB นอกจากนี้ก็ยังมีกราฟิกการ์ดแบบแยกมาด้วย Radeon R7 M265 พร้อมหน่วยความจำสำหรับการแสดงผลต่างหากอีก 2GB โดยกราฟิกการ์ดแบบแยกและกราฟิกการ์ดที่อยู่ในตัว APU จะสามารถช่วยกันประมวลผลเพื่อเร่งประสิทธิภาพการทำงานได้ โดยเฉพาะเมื่อเวลาเราเล่นเกม แต่ถ้าเป็นการใช้งานทั่วไปก็จะพยายามใช้กราฟิกที่อยู่ในตัว APU เป็นหลักเพราะประหยัดพลังงานมากกว่า
Specification
- AMD Kaveri A10-7300 Quad-core Processor (1.9GHz up to 3.2GHz, 4MB Cache)
- 4GB DDR3L/1600MHz
- 1 TB SATA HDD
- Dual Layer Multiburner Drive (DVD-RW)
- AMD JET PRO R7 M255 DDR3L 2G
- 6″ WXGA LED
- 720P Web Camera
- 4-cell Li-ion Battery
- 0 Dolby Digital Plus Home Theater
- OS: DOS
- 2-year Regional Carry-in Warranty
ประสิทธิภาพ
ในการทดสอบประสิทธิภาพครั้งนี้เราได้นำผลการทดสอบของ APU A10-7800 ซึ่งเป็น APU ที่อยู่ในเครื่องเดสก์ท็อปมาเปรียบเทียบด้วยครับ แม้เราจะทราบว่า A10-7800 นั้นต้องแรงมากกว่าอยู่แล้ว เพราะมีทั้งหน่วยความจำ 8GB Dual-Channel มีฮาร์ดดิสก์ที่เร็วกว่า แต่เราก็ขอนำตัวเลขผลการทดสอบมาเทียบให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ
PCMARK 7 | Z5075 | Baseline |
PCMark score | 1847 | 2890 |
Lightweight score | 1708 | 2336 |
Productivity score | 1297 | 1849 |
Entertainment score | 1769 | 2988 |
Creativity score | 2953 | 4755 |
Computation score | N/A | 6858 |
System storage score | 1545 | 1768 |
Raw system storage score | 354 | 406 |
RealBench 2.2 | Z5075 | Baseline |
Image Editing | 39548 | 63068 |
Encoding | 20379 | 39872 |
Open CL | 21288 | 21288 |
Heavy Multitasking | 13973 | 33155 |
System Score | 19539 | 35088 |
AIDA64 GPGPU | Z5075 | Baseline |
Single Precision (GFLOPS) | 913.4 | 736.4 |
Double Precision (GFLOPS) | 59.6 | 46.06 |
24-bit Integer (GIOPS) | 910 | 736.1 |
32-bit Integer (GIOPS) | 190.9 | 147.4 |
64-bit Integer (GIOPS) | 45.4 | 35.08 |
AES-256 | 5095 | 3928 |
SHA-1 Hash | 11243 | 10729 |
Single Precision Julia (FPS) | 188.3 | 144.4 |
Double Precision Mandel (FPS) | 19.27 | 14.78 |
เราทดสอบประสิทธิภาพการเล่นเกมด้วยโปรแกรม 3DMark โดยเลือกใช้โหมด Cloud Gate ซึ่งเป็นโหมดการที่เหมาะกับพีซีและโน้ตบุ๊กที่มีสเปคไม่สูงมากนัก และการทดสอบในส่วนนี้ก็จะเห็นได้กว่า ความแรงทางด้านกราฟิกของ Lenovo Z5075 นี้ พอที่จะใช้เล่นเกมได้บ้าง แต่ดูแล้วก็จะเหมาะกับเกมแนวออนไลน์มากกว่าเมื่อเทียบผลการทดสอบระหว่าง Lenovo Z5075 ที่เป็นโน้ตบุ๊ก APU A10-7300 กับชุดเดสก์ท็อปที่ใช้ APU A10-7800 เราก็จะเห็นได้ว่า Lenovo Z5075 ทำคะแนนได้น้อยกว่าเป็นส่วนใหญ่ครับ ที่บอกว่าเป็นส่วนใหญ่ก็เพราะว่ามีคะแนนส่วนน้อยที่ Lenovo Z5075 ทำได้ดีกว่านั่นเองครับ โดยคะแนนที่ทำได้ดีกว่าก็เป็นตรงส่วนของการทดสอบด้าน GPGPU หรือการนำ GPU มาประมวลผลทั่วไปนั่นเอง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า Lenovo Z5075 นั้นมีกราฟิกชิปถึงสองชุด ชุดแรกรวมอยู่ใน APU A10-7300 ชุดที่สองก็คือ Radeon R6 ที่เป็นกราฟิกการ์ดแบบแยก พร้อมหน่วยความจำอีก 2GB โดยในการทดสอบ GPGPU จะเป็นการนำกราฟิกทั้งหมดมาช่วยในการประมวลผล จึงทำให้คะแนน GPGPU ของ Lenovo Z5075 สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับชุดทดสอบ APU A10-7800 ครับ
อันที่จริงโน้ตบุ๊ก Lenovo Z5075 ควรจะแรงได้มากกว่านี้ครับ ถ้าทาง Lenovo ใส่แรมแบบ Dual-Channel มาให้ แต่ว่าสเปคมาตรฐานที่มานั้นเป็นหน่วยความจำแบบ Single Channel เท่านั้น ก็เข้าใจครับว่าทาง Lenovo ต้องการทำราคาให้จับต้องได้ง่ายขึ้น และอาจจะมุ่งเป้าหมายสำหรับการใช้งานทั่วไปมากกว่าการใช้งานหนัก ๆ อย่างไรก็ตามโน้ตบุ๊กรุ่นนี้ก็ถือว่ามีพื้นฐานที่ดีครับแค่ใส่แรม 4GB เพิ่มไปอีกหนึ่งโมดูลก็เพิ่มประสิทธิภาพได้แล้ว
การใช้งาน
แม้ว่าผลการทดสอบจะไม่ได้แรงอะไรมากมายนัก แต่ว่าการใช้โน้ตบุ๊กรุ่นนี้ทำงานก็ถือว่าสะดวกสบายพอสมควรครับ โดยเฉพาะชุดคีย์บอร์ดขนาดใหญ่ในระดับเดียวกับกับเดสก์ท้อป พร้อมกับจอภาพขนาด 15.6 นิ้ว ที่มีความละเอียด 1366×768 แม้จะไม่ละเอียดมากนัก แต่ว่าก็เหมาะสมกับความเร็วความแรงที่ได้จากกราฟิกการ์ดของโน้ตบุ๊กรุ่นนี้แล้วครับ และขนาดของตัวอักษรบนหน้าจอก็มีขนาดใหญ่ชัดเจนดี อ่านง่ายสบายตา แต่ถ้าต้องการใช้งานร่วมกับจอภาพภายนอกที่มีขนาดใหญ่ให้ความละเอียดสูงในระดับ 1080p หรือ 1440p โน้ตบุ๊กรุ่นนี้ก็ยังรองรับได้อย่างสบายครับ การพิมพ์งานก็ให้ความรู้สึกที่ดีครับ โดยเฉพาะเมื่อมีคีย์บอร์ดชุดตัวเลขมาให้ด้วย ทำให้เราสามารถใข้งานได้สะดวกเหมือนกับคีย์บอร์ดของเครื่องเดสก์ท็อปเลยครับ
ส่วนระยะเวลาในการใช้งานด้วยแบตเตอรีก็จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ครับ ถ้าเป็นการใช้งานทั่วไปรวมไปถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านทาง Wi-Fi ก็จะอยู่ได้ราว ๆ สองชั่วโมงครึ่ง แต่ถ้าใช้งานหนักกว่านั้นก็จะลดลงมาตามการใช้งานครับ ตามความเห็นของเราโน้ตบุ๊กระดับนี้กับการทำงานด้วยแบตเตอรี่ได้ถึงสองชั่วโมงก็ถือว่าสอบผ่านแล้วครับ
สำหรับการเล่นเกมถ้าเป็นเกมออนไลน์ส่วนใหญ่ก็เล่นได้ไม่มีปัญหาครับ แต่ถ้าเป็นเกมที่ใช้กราฟิกแบบจริงจังอย่างพวก Battlefield 4 ก็แนะนำว่าให้ปรับรายละเอียดของภาพมาอยู่ในระดับ Low ครับ ก็พอจะเล่นได้ที่ 30 เฟรม แต่บางฉากที่มีการระเบิดหรือมีจำนวนทหารมากหน่อยก็อาจจะลดลงไปแถว ๆ 25 เฟรม ได้เหมือนกัน ก็คือพอเล่นได้ครับ แต่ถ้าเป็นเกมขับรถอย่าง Dirt3 อันนี้ก็สบาย ๆ ครับไม่มีปัญหา
สรุป
ด้วยจอภาพขนาดค่อนข้างใหญ่ คีย์บอร์ดที่จัดมาเต็มรูปแบบเหมือนกับเครื่องเดสก์ท็อป รวมไปถึงฮาร์ดแวร์ที่โดดเด่นทั้งซีพียูแบบ Quad-Core และกราฟิกชิปที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบเดียวกันกับกราฟิกการ์ดที่ใช้เล่นเกม ทำให้โน้ตบุ๊กรุ่นนี้เหมาะทั้งการใช้งานพื้นฐานทั่วไป ใช้งานร่วมกับแอพพลิเคชันกราฟิกและมัลติมีเดียทั้งหลายได้ รวมถึงสามารถเล่นเกมแนวแคชชวล และเกมออนไลน์ได้ดี แต่ถ้าจะต้องการใช้เพื่อการเล่นเกมจริง ๆ ก็มีคำแนะนำว่าควรจะเพิ่มเติมหน่วยความจำเข้าไปอีก 4GB ครับ นอกจากจะทำให้หน่วยความจำมีขนาดเพิ่มขึ้นเป็น 8GB แล้ว การเพิ่มหน่วยความจำ 4GB เช้าไปอีกหนึ่งโมดูลจะทำให้การทำงานของหน่วยความจำเป็นแบบ Dual-Channel อีกด้วยครับ ทำให้หน่วยความจำทั้งระบบทำงานได้เร็วขึ้นอีกเกือบเท่าตัว ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมทั้งระบบ รวมถึงจำนวนเฟรมเรตในการเล่นเกมที่ดีขึ้นอีกด้วย และที่สำคัญหมั่นตรวจสอบและอัพเดตไดรเวอร์ของกราฟิกการ์ดอยู่สม่ำเสมอก็จะช่วยให้เล่นเกมได้ดีขึ้นอีกด้วย เมื่อดูคุณสมบัติในการทำงานทั้งหมดแล้วเราเห็นว่า Lenovo Z5075 นี้ก็เป็นโน้ตบุ๊กอีกหนึ่งรุ่นที่มีความคุ้มค่ามาก ๆ ในราคาที่ไม่ถึงสองหมื่นบาท