Sapphire R7 260X 2GB GDDR5 OC ความคุ้มค่าที่ท้าทายกาลเวลา
กราฟิกชิป Radeon R7 260X เปิดตัวออกมาครั้งแรกมาตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปี 2013 โน่นแล้วละครับ อันที่จริง Radeon R7 260X นั้น มีอายุที่เก่ากว่านั้นอีกครับคือชิปรุ่นนี้เป็นการสืบเชื้อสายมาจาก Radeon HD 7790 อย่างไรก็ตามใน R7 260X นั้นก็ได้รับการปรับปรุงให้มีความทันสมัยขึ้นกว่า HD 7790 อยู่บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นการรองรับ DirectX 11.2 (รองรับ DX12 ด้วย) และรองรับ OpenGL 4.3 เป็นต้น
กราฟิกการ์ด Radeon R7 260X ที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดจะมีอยู่สองรุ่นใหญ่ ๆ ให้เลือกครับคือรุ่นที่มีหน่วยความจำขนาด 1GB และรุ่นที่มีหน่วยความจำขนาด 2GB ซึ่งถ้าถามเราว่าเราควรจะซื้อกราฟิกการ์ดรุ่นไหนตอบได้ง่าย ๆ เลยครับว่าตอนนี้เราควรจะเลือกใช้กราฟิกการ์ดที่มีหน่วยความจำ 2GB ครับถ้าต้องการเล่นเกม แต่ถ้าเป็นการใช้งานทั่วไปและเล่นเกมเล็ก ๆ น้อยกราฟิกการ์ดที่มีหน่วยความจำ 1GB ก็พอรับมือไหวครับ
และสำหรับกราฟิกการ์ด R7 260X ที่เราจะทดสอบในครั้งนี้มาจากค่ายของ Sapphire ซึ่งการ์ดที่ใช้ชิป Radeon R7 260X และมาพร้อมกับหน่วยความจำ GDDR5 ขนาด 2GB ความเร็ว 1500MHz (Quad Rate 6000MHz) ชิป R7 260X ที่ใช้กับการ์ดรุ่นนี้มีจำนวนสตรีมโปรเซสเซอร์ทั้งหมด 896 คอร์ โดยถูกจัดเป็นกลุ่มเป็น CU (Compute Unit) จำนวน 14 ชุด คือมีชุดละ 64 คอร์ นั่นเอง ส่วนความเร็วของกราฟิกชิป R7 260X ทาง Sapphire ได้โอเวอร์คล็อกมาเล็กน้อยเป็น 1150MHz จากความเร็วปกติที่ 1100MHz ช่องสำหรับต่อจอภาพก็มีทั้ง DVI, HDMI, และ DisplayPort 1.2
ทางด้านชุดระบายความร้อนนั้นก็เป็นการออกแบบใหม่ครับโดยใช้ฮีตซิงค์ที่มีฐานทำจากทองแดงร่วมกับชุดครีบระบายความร้อนที่เป็นอะลูมิเนียมขนาดใหญ่ และมีพัดลมระบายความร้อนมาด้วยอีกหนึ่งตัว โดยทั้งหมดนี้สามารถจัดการกับความร้อนที่เกิดขึ้นจากการใช้งานได้อย่างสบาย ๆ ครับแม้ว่าจะไม่ได้ใช้งานในห้องแอร์ก็ตาม แต่ถ้าอยู่ในห้องแอร์ก็ยิ่งดีครับ ที่สำคัญพัดลมระบายความร้อนทำงานได้เงียบครับ ตอนที่ทดสอบโอเวอร์คล็อกก็ยังทำงานได้เงียบเช่นกัน ซึ่งเราจะไปดูรายละเอียดกันในส่วนของการทดสอบครับ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ
- CPU: Intel Core i5-4670K @ 4.0GHz
- Mainboard: ASRock Z97 Extreme6
- VGA: PALiT GTX 750Ti StormX Dual (Baseline)
- RAM: Corsair DDR3 @1600MHz (4GBx2)
- HDD: WD Black 1TB SATA-III
- PSU: Coolermaster V1000
- Monitor: Philips P-Line 288P6 (4K)
ผลการทดสอบ
จากการทดสอบเราจะเห็นได้ว่า Sapphire Radeon R7 260X นี้เหมาะสำหรับใช้ในการเล่นเกมที่ความละเอียดระดับ Full HD (1920×1080) โดยสามารถปรับรายละเอียดของภาพได้ในระดับกลางไปจนถึงระดับสูง ขึ้นอยู่กับเกมแต่ละเกมว่าต้องการความสามารถทางด้านฮาร์ดแวร์มากน้อยขนาดไหน
3DMark Fire Strike (2013) | R7-260X | Baseline |
3DMark Score | 3694 | 4470 |
Graphics Score | 4098 | 4896 |
Physics Score | 8079 | 8054 |
Combined Score | 1447 | 1927 |
Graphics Test 1 (FPS) | 20.52 | 23.35 |
Graphics Test 2 (FPS) | 15.75 | 19.56 |
Physics Test (FPS) | 25.65 | 25.57 |
Combined Test (FPS) | 6.73 | 8.96 |
AIDA64 GPGPU Benchmark | R7-260X | Baseline |
Single-Precision (GFLOPS) | 1839 | 1647 |
Double-Precision (GFLOPS) | 368.1 | 54.03 |
24-bit Integer (GIOPS) | 1838 | 558.1 |
32-bit Integer (GIOPS) | 368.1 | 557.9 |
64-bit Integer (GIOPS) | 91.70 | 96.82 |
AES-256 (MB/s) | 9802 | 4579 |
SHA-1 Hash (MB/s) | 18558 | 16376 |
Single-Precision Julia (FPS) | 359.7 | 337.9 |
Double-Precision Mandel (FPS) | 32.52 | 17.95 |
Game Benchmarks (1920×1080) | R7-260X | Baseline |
Alien vs. Predator (Very High) | 34.4 | 43.8 |
Sniper Benchmark (Ultra High) | 13.9 | 21.2 |
Metro Last Light (Very High) | 14.67 | 21.3 |
นอกจากการทดสอบตามปกติแล้วเรายังลองเล่นเกมหลายเกมด้วยกราฟิกการ์ดรุ่นนี้ผลที่ได้ก็น่าสนใจครับ เช่นเกม Battlefield 4 เราสามารถที่จะเล่นที่ความละเอียด Full HD แล้วปรับรายละเอียดของภาพไปที่สูงสุดระดับ Ultra ได้ หรือถ้าจะเล่นที่ความละเอียดสูงที่ 2560×1440 ได้ แต่ต้องปรับรายละเอียดของภาพลงมาระดับกลางก็จะเล่นได้ลื่นไม่มีกระตุก ส่วนเกมที่กำลังดังสุด ๆ ในตอนนี้อย่าง GTA V นั้น เล่นได้ดีลื่นสุดระดับ 40 เฟรมต่อวินาที ก็ต้องปรับความละเอียดของภาพไปที่ Full HD ครับ ส่วนเรื่องรายละเอียดของภาพไม่ต้องไปรับแต่งอะไรเลยครับปล่อยให้ตัวเกมเป็นตัวกำหนดเองโดยอัตโนมัติ ก็ได้ภาพสวยเป็นที่น่าพอใจครับ
นอกจากเราทดสอบกราฟิกการ์ดรุ่นนี้ด้วยแอปพลิเคชันกราฟิกและเกมแล้ว เรายังได้ทดสอบคุณสมบัติทางด้านการทำงานทั่วไป ใช้การสร้างคอนเทนต์ด้านมัลลิมีเดียโดยใช้โปรแกรม PCMark 8 ในการทดสอบ ซึ่งเราทำการทดสอบสองแบบคือแบบแรกเป็นการทดสอบโดยปิดการใช้คุณสมบัติด้าน OpenCL คือไม่มีการนำกราฟิกมาช่วยประมวลผล และทดสอบในแบบที่สองคือการเปิดให้ใช้ OpenCL หรือการนำกราฟิกการ์ดมาช่วยประมวลผลนั่นเอง ซึ่งผลการทดสอบก็ออกมาดังนี้ครับ ทดสอบโดยปิด OpenCL คะแนนรวมของ PCMark 8 อยู่ที่ 3512 คะแนน และเมื่อเปิดคุณสมบัติ OpenCL คะแนนจาก PCMark 8 เพิ่มขึ้นเป็น 4997 คะแนนเลยทีเดียว
การโอเวอร์คล็อก
การ์ดรุ่นนี้ได้รับการโอเวอร์คล็อก GPU มาจากโรงงานแล้วเล็กน้อยคือเพิ่มจาก 1100MHz ไปเป็น 1150MHz แต่ว่าเราสามารถจะทำการโอเวอร์คล็อกกราฟิกการ์ดรุ่นนี้ให้ไปต่อไปอีก คือสามารถปรับไปได้ที่ความเร็ว 1230MHz ในส่วนของกราฟิกชิป ส่วนหน่วยความจำเราก็ปรับเพิ่มจาก 1500MHz เป็น 1600MHz (6400MHz) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นค่าการโอเวอร์คล็อกที่ลงตัวที่สุดสำหรับกราฟิกการ์ดรุ่นนี้ ทางด้านอุณหภูมิและความร้อนก็ไม่มีปัญหาครับเพราะชุดระบายความร้อนที่ใช้นั้นก็จัดได้ว่ามีประสิทธิภาพที่ดีพอสมควรครับ และทำงานได้เงียบอีกด้วย เมื่อเราโอเวอร์คล็อกความเร็วรอบของพัดลมจะทำงานขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ที่ 42-50% เท่านั้น ถือว่าน้อยมากครับ (ทดสอบในห้องแอร์ 25 องศาเซลเซียส) ส่วนอุณหภูมิของกราฟิกชิปเองก็อยู่ที่ 69-70 องศาเซลเซียส เท่านั้น แม้ว่าจะเป็นการเบิร์นจน GPU ทำงาน 100% แล้วก็ตาม
สรุป
แม้จะมีระยะเวลาการเปิดที่นานพอสมควรแล้วสำหรับชิป Radeon R7 260X แต่เมื่อทาง Sapphire นำมาสร้างเป็นกราฟิกการ์ดและปรับปรุงเรื่องความเร็วและใช้ชุดระบายความร้อนที่ดีก็ทำให้กราฟิกชิปรุ่นนี้สามารถที่จะรองรับเกมต่าง ๆ ได้อย่างไม่ต้องเป็นกังวลครับ และสำหรับคนที่ไม่ได้เล่นเกมเป็นหลัก แต่ต้องการกราฟิกการ์ดสำหรับใช้งานสำหรับด้านกราฟิกอย่างพวก Photoshop หรือ Lightroom กราฟิกการ์ด Sapphire R7 260X 2GB GDDR5 OC นี้ก็สามารถช่วยให้คุณทำงานได้ราบรื่นเช่นกันครับด้วยคุณสมบัติทางด้าน OpenCL ที่สามารถเข้ากับแอปพลิเคชันเหล่านี้ได้อย่างดี ซึ่งก็ได้พิสูจน์ให้เห็นจากการทดสอบแล้วว่าเมื่อมีการใช้ OpenCL การ์ดรุ่นนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมของระบบได้ดีอย่างมาก